เทพแห่งดุริยดนตรี

พระปัญจสีขร
         พระปัญจสีขรในบาลีเรียกว่า ปัญจสิข เดิมเป็นเด็กเลี้ยงโคมีผม ๕ แหยม ได้สร้างสิ่งซึ่งสาธารณประโยชน์คือ ศาลา สระน้ำ ถนน และยานพาหนะ ได้ตายตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มและไปบังเกิดเป็นเทพบุตรในชั้นจตุมหาราช ชื่อว่า “ปัญจสีขรคนธรรพ์เทพบุตร” มี ๕ ยอด ร่างกายเป็นสีทอง มีกุณฑล ทรงอาภรณ์แล้วไปด้วยเงินรายรับทรงภูษาสีแดง มีความสามารถในเชิงดีดพิณและขับลำนำ

         ตามสักกปัญหสูตร์กล่าวว่า เมื่อพระอินทร์จะไปทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้า ซึ่งเสด็จประทับอยู่ ณ ถ้ำอินทสาลคูหา หว่างเขาเวทิยกบรรพต กรุงราชคฤห์นั้น ก็ต้องให้ภาพปัญจสิงขรคนธรรพเทพบุตรเป็นผู้นำเข้าเฝ้าทูลขอโอกาสให้ก่อน เพราะ “พระปัญจสิงขรคนธรรพเทพบุตร เป็นพระพุทธอุปัฏฐากคุ้นเคยสนิทในพระพุทธบาทยุคล คิดจะทำอันใดก็ได้ แม้ถามปริศนาแล้วก็ฟังธรรมะเทศนาเล่า อาจทำได้ดังนั้น ในขณะอันพระองค์ปรารถนาและไม่ปรารถนา เทพยดาอื่น ๆ ไม่คุ้นเคยเหมือนปัญจสีขรคนธรรพนี้”

       เมื่อก่อนที่จะกราบทูลพระพุทธเจ้า ขอประทานโอกาสให้แก่พระอินทร์ในครั้งนั้น พระปัญจสีขรคนธรรพ์เทพบุตร ได้ดีดพิณและขับลำนำพรรณนาพระพุทธคุณ, พระธรรมคุณ, พระสังฆคุณ, เป็นข้ออุปมาเปรียบด้วยกามคุณ ดังที่เคยขับประโลมนางสุริยะวัจฉสา (ราชธิดาพระเจ้าติมพรุคนธรรพเทวราช) มาแล้ว ขับถวายพระพุทธองค์ การขับลำนำและดีดพิณครั้งนั้น พระพุทธองค์ชมเชยว่า “เสียงพิณและเสียงขับแห่งท่าน สัณหน่าฟังนัก กลมกล่อมกันไป ไม่แตกไม่แยกกันเลย เสียงพิณก็เข้ากับเสียงขับ เสียงขับกับเสียงพิณ มีลีลาศอันละมุนละม่อมเสมอสมานกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว” ครั้นเมื่อปัญจสิขสนทนากับพระพุทธองค์ตามสมควรแล้ว จึงขอประทานโอกาสให้แก่พระอินทร์ พระพุทธพระองค์ก็ทรงประทานพุทธานุญาต พระอินทร์กับบริวารจึงได้เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาสมประสงค์

       เมื่อพระอินทร์ได้ทูลถามปัญหาและฟังธรรมเทททศนาเสร็จแล้วจึงมีเทวโองการ “ดูกร พ่อปัญจสิขเทพบุตร์ เจ้ามีคุณูประการแก่เราครั้งนี้หนักหนา ตัวเจ้านี้ยังสมเด็จพระผู้มีพระภาคให้เลื่อมใสก่อนแล้ว เราจึงได้เข้ามาทัศนาการกราบถวายนมัสการให้ทรงพระมหากรุณาโปรดเราต่อเมื่อภายหลัง เราจะตั้งเจ้าไว้ในที่อันเป็นบิดา เจ้าจงเป็นสมเด็จพระเจ้าปัญจสิขคนธรรพเทพบุตร์ราช เราประสาทซึ่งนางสุริยวัจฉสาอันเป็นนางเทวธิดาปรากฏให้เป็นมเหสีสำหรับยศแห่งท่าน

         อันพิณของพระปัญจสิงขร (ปัญจสิข) นี้ตามบาลีแห่งพระสูตรนี้มีพรรณเลื่อมเหลือง ดุจผลมะตูมสุกสะอาด, ตระพองพิณนั้นแล้วด้วยทองทิพย์ธรรมดา, คันนั้นแล้วด้วยแก้วอินทนิลมณี, มีสาย ๕๐ สายแล้วด้วยเงินงาม, เวทกะ (ลูกบิด) ที่สอดเสียบปลายคันนั้นแล้วด้วยแก้วประพาฬ,ดังนี้
         ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เป็นข้ออ้างอันสมควรที่สุดที่จะยก “พระปัญจสีขร” เป็นเทพแห่งดุริยางคศิลป์ตรีองค์หนึ่ง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระปรคนธรรพ

พระวิษณุกรรม

พระปัญจสีขร